ปลูกฝังให้เด็กไทยชอบหนังสือ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ดิฉันและคุณพ่อได้ไปเดินดูหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่38
ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ค่ะดิฉันนั้น ปกติจะไปงานนี้ทุกปี และต้องได้หนังสือติดไม้ติดมือกลับบ้านหลายเล่มทุกครั้งไป
บางปีก็ไปหารายได้พิเศษด้วยโดยไปช่วยคุณแม่ขายหนังสือ ซึ่งก็สนุกไปอีกแบบนะคะ
จำได้ว่าครั้งแรก ๆ
ที่ดิฉันไปช่วยคุณแม่ขายหนังสือนั้น
งานไม่ได้จัดที่ศูนย์ฯสิริกิติ์อย่างทุกวันนี้หรอกนะคะ แต่จัดที่ถนนลูกหลวง
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานเป็นประจำทุกปี
ก่อนที่จะย้ายมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546
จนถึงปัจจุบัน
งานนี้ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ
งานที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน แต่เป็นที่น่าเศร้าใจว่า
สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยในปี พ.ศ. 2551 นั้น คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 39
นาทีต่อวัน ลดลงจากปี 2548 ซึ่งอ่านเฉลี่ย 51 นาทีต่อวัน
นอกจากนั้น คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ
5 เล่มต่อปีซึ่งน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิงคโปร์หรือเวียดนาม ซึ่งอ่านเฉลี่ยคนละ
40-60 เล่มต่อปี
ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้ปี
2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน และยังให้วันที่ 2 เมษายน
ของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เป็นวันรักการอ่านอีกด้วย
ทางรัฐบาลยังเห็นความสำคัญของการอ่านขนาดนี้
เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ควรช่วยกันด้วย จริงไหมคะ?
การปลูกฝังนิสัยการรักการอ่านนั้น
ดิฉันว่าควรเริ่มจากในครอบครัวเราเองก่อนค่ะ
โดยพ่อแม่อ่านหนังสือเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ไม่ใช่เอาแต่ดูทีวี
และพ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง หรือตอนเป็นทารก
และอ่านต่อเนื่องทุก ๆ วันได้จะยิ่งดีค่ะ
นิดดา หงษ์วิวัฒน์ เรียบเรียงหนังสือเรื่อง
"อ่านหนังสือให้ลูกฟัง", "The-Read-Aloud Handbook, Jim
Trelease,2537 กล่าวว่า "เด็กที่ไม่เคยมีใครเล่านิทาน
อ่านหนังสือให้ฟัง ก็จะหมดความกระหายใคร่รู้หมดความอยากฝัน..
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังวันละนิดนั้น.. ภาษาที่ลูกได้ฟัง ได้ซึมซับรับรู้ เป็นสะพานที่พ่อแม่ได้สร้างเชื่อมลูก
โยงใยเข้าสู่การผจญภัย ความตื่นเต้น
สนุกสนานสร้างจินตนาการอันเป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิต"
ดิฉันเลยสงสัยว่า สมัยเด็ก ๆ
คุณพ่ออ่านนิทานให้ลูกฟังบ่อย ๆ หรือทำอย่างไร
จึงเป็นผลให้ดิฉันรักการอ่านมาจนทุกวันนี้ค่ะ ?แหม
! ความจริงอ้อนแอ้นน่าจะจำได้ว่า ก่อนนอนพ่อจะต้องอ่านนิทานให้ฟัง แล้วยังสอน
"หนังสือคือขุมทรัพย์" !
แต่จริง ๆ
แล้ววัฒนธรรมไทยที่รับมาจากอินเดียเป็นวัฒนธรรม "ฟัง" แล้ว
"พูด" มากกว่า "อ่าน" และ
"เขียน"พระไตรปิฎกเราใช้ท่องจำถ่ายทอดกันมาแบบมุขปาฐะ จนถึงสังคยานาครั้งที่
5 พ.ศ. 460 จึงเริ่มจารึกเอาไว้เป็นตัวอักษร
สุภาษิตไทยเองก็บอกว่า
"ปากเป็นเอกเลขเป็นโทหนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา" ดังนั้น
การส่งเสริมการอ่านหนังสือจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องทำกันทุกระดับตั้งแต่
พ่อ แม่ครู อาจารย์ ไปจนถึงรัฐบาล ความยากอยู่ที่ตรงนี้แหละ จะทำให้ พ่อ
แม่ ครูอาจารย์ที่เป็นไม้แก่ดัดยาก อ่านหนังสือเป็นแบบอย่างเด็ก ๆได้อย่างไร ?
นอกจากนั้น จริยธรรมในการอ่าน คือ
อ่านอะไรดี ?อ่านแล้วคิดอย่างไรดี ? และจะนำสิ่งที่อ่านไปใช้ประโยชน์ก็ต้องอ้างอิง
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ก็สำคัญมาก..!!เพราะการอ่านเป็นเพียง
"วิธี" ได้ข้อมูล แต่ "สาระ"ของข้อมูล
และการใช้ข้อมูลก็สำคัญไม่แพ้กัน
หากไม่ปลูกฝังดี ๆ เราก็อาจมี
"โจรวรรณกรรม" คือการลอกผลงานคนอื่นมาใช้โดยไม่อ้างอิงเต็มบ้านเต็มเมือง
นะครับ !
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น